หลักธรรม ดูแลใจ ผู้สูงอายุเฝ้าไข้คู่ชีวิต

หากในครอบครัวมีคนป่วยติดเตียงที่เป็นผู้สูงอายุ หรือคุณเป็นผู้สูงอายุที่ต้องรับหน้าที่ดูแล เฝ้าไข้ คู่ชีวิต หรือพี่น้องป่วยติดเตียง อาจเกิดความเครียดความกังวล ซึ่งส่งผลทั้งผู้ป่วยเองและตัวเรา ซีวจิตขอนำหลักธรรมเพื่อดูแลใจคนเฝ้าไข้ เคล็ดลับจาก พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตุโต) จากหนังสือเรื่อง “กายหายไข้ ใจหายทุกข์” มาฝากกันค่ะ

  1. ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง เมื่อจิตใจของญาติหรือผู้ใกล้ชิดที่มีความเข้มแข็ง จะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้เจ็บป่วยนั้นรู้สึกมีความเข้มแข็งมากขึ้น
    แม้ผู้ป่วยเองจะมีอาการหนักจนไม่รู้สึกตัวก็ตาม แต่ผู้ป่วยสามารถรับรู้สัมผัสทางจิตใจได้ ดังนั้นญาติหรือผู้ดูแลเฝ้าไข้ควรมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนป่วยได้รับกำลังใจมีพลังด้านบวก ซึ่งจะสามารถช่วยให้เยียวยาอาการให้ดีขึ้น
  2. ทำจิตใจให้สงบ จิตใจที่สงบ ไม่มีความกระวนกระวายจะช่วยให้มีความคิดไตร่ตรอง พิจารณาการตัดสินใจการเลือกรักษา การให้การพยาบาลอาการ หรือการที่ต้องดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  3. การทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง การทำจิตใจให้ปลอดโปร่งสบายใจนั้น อาศัยหลักการคิดว่า เรานั้นได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ได้มีโอกาสใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ทอดทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่กับอาการเจ็บป่วยตามลำพัง คือ เราได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดแล้ว วิธีการคิดเช่นนี้ช่วยปรับจิตใจเราให้สมดุลและโปรดโปร่ง
  4. หมั่นระลึกถึงความรัก ความผูกพันระหว่างผู้ป่วยกับตนเอง นึกถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน นึกถึงความรักที่มีให้แก่กัน ไม่ว่าในสถานะ พ่อแม่ สามีภรรยา แม่ลูก พ่อลูก ก็ตามจะเป็นสิ่งดีงามที่ช่วยดึงความสุข ในจิตใจช่วยให้เกิดความเบิกบานผ่องใส เกิดกำลังใจในการช่วยเหลือ ประคับประคองดูแลกันและกันไปได้

การดูแลใจให้หายความเครียด ความกังวล ส่งผลถึงการดูแลกายด้วยนะคะ เพราะกายที่แข็งแรงย่อมมาจากจิตใจที่แข็งแรงไปพร้อมกันทั้งสองอย่าง ชีวิตที่อยู่ดูแลกันจะได้เปี่ยมไปด้วยความสุขคลายทุกข์จากอาการป่วยได้

: ที่มานิตยสารชีวจิต ฉบับ 1 เม.ย. 2555 เรื่องโดย ชมนาด