5 วิธีดูแลเมื่อผู้สูงอายุอาเจียน

ในครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่มักมีผู้สูงอายุอาศัยรวมอยู่ด้วยแทบทุกบ้าน จึงเป็นเรื่องปกติที่เราควรรู้วิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของผู้สูงอายุ กรณีฉุกเฉินเมื่อคุณตา คุณยาย ปู่ ย่าเรามีอาการข้างเคียงของโรคที่ผู้สูงอายุเป็น วันนี้ชีวจิตจึงนำเสนอวิธีการดูแลสุขภาพ เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน เราควรทำอย่างไร
การอาเจียนในผู้สูงอายุเกิดขึ้นเกิดมาจาก อาการข้างเคียงของยาที่กินรักษาโรคประจำตัว หรืออาเจียนที่เกิดจากความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อนซึ่งเกิดได้มาจากหลายสาเหตุ เช่น อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคที่เกียวกับสมอง การอาเจียน การไอมากๆจาก การเมารถ การเมาเรือ การเดินทาง หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาการแพ้ยา เป็นต้น

นอกจากนี้การอาเจียนยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ แต่ที่เราต้องดูแลมากเป็นพิเศษต้องให้ความสำคัญไปที่ผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเตรียมรับมือด้วยเคล็ดลับ 5 วิธีดังนี้

  1. งดรับประทานอาหารใดๆเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง หลังการอาเจียน เพื่อให้กระเพาะอาหารได้พัก แต่เราสามารถให้ผู้สูงอายุจิบเพียงน้ำเปล่าได้ เมื่อมีอาการคลื่นไส้ตามมา
  2. เมื่อหายจากอาการคลื่นไส้ เวียนศรีษะแล้วให้เริ่มป้อนอาหารชนิดอ่อนๆ เช่น ซุปใส ซุปผัก และน้ำอาร์ซี เป็นต้น
  3. ในวันต่อมาหลังการอาเจียน ให้กินอาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม กล้วยสุก ซุป ติดต่อกัน 2-3 วันและควรกินในปริมาณไม่มากจนมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆตามมาได้อีก
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้สูงอายุที่มีอาการอาเจียนคลื่นไส้ ควรได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ และควรจัดให้ที่นอนและห้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีลมเข้าออกเย็นสบายเพื่อลดการเวียนศรีษะ
  5. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่และควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เพราะจะทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ดี ถ้าหากผู้สูงอายุมีการอาเจียนมากกว่า 1 ครั้ง ญาติหรือผู้ดูแลไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดและพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุและติดตามอาการอย่างละเอียด

: ที่มานิตยสารชีวจิต ฉบับ 1 เม.ย. 2550 เรื่องโดย ทิมวดี